เกร็ดความรู้

นานาเทคโนโลยีที่สนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกต่างตั้งเป้าหมายที่จะสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อนำไปสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ไปจนถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 โดยมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามกลไก “ลด-ดูดกลับ-ชดเชย” คาร์บอน อย่างไรก็ตาม การทำกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกด้วยสองมืออาจไม่ได้ช่วยให้เห็นผลลัพธ์เท่าที่ควร และไม่เหมาะกับการทำกิจกรรมในระดับใหญ่ เทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ตามเป้า ดังนั้น บทความนี้ จะนำเสนอตัวอย่างของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้น และยังสร้างโอกาสอื่น ๆ จากการลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้

  1. Electrification การใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานในอาคารบ้านเรือน หรือแม้กระทั่งการขนส่ง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เทคโนโลยีที่น่าสนใจก็อย่างเช่น
  • Electric-vehicle batteries: แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากการใช้เชื้อเพลิงในยานยนต์ทั่วไป
  • Battery-control software: ซอฟต์แวร์สำหรับควบคุมแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและใช้พลังงาน ช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงาน
  • Efficient building systems: ระบบจัดการพลังงานในอาคารให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบปรับอากาศหรือแสงสว่างที่ใช้ไฟฟ้า เพื่อการประหยัดพลังงาน
  • Industrial electrification: การเปลี่ยนกระบวนการในภาคอุตสาหกรรมให้ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนพลังงานฟอสซิล เช่น การหลอมโลหะด้วยไฟฟ้า
  1. Agriculture การทำเกษตรกรรม ด้วยการพัฒนาการเกษตรให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ข้อมูลจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ในปี 2565 ภาคการเกษตร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ร้อยละ 15.69 มาจากการเพาะปลูกพืชเกษตร ร้อยละ 77.57 การทำปศุสัตว์ ร้อยละ 22.43 การเผาไหม้ชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ร้อยละ 2.92 และการใส่ปุ๋ยยูเรีย ร้อยละ 2.86 ที่สำคัญ ก๊าซมีเทน (CH₄) ที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุดจากการทำปศุสัตว์ มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25-28 เท่าในช่วงระยะเวลา 100 ปี การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จึงสามารถช่วยให้การทำเกษตรกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น เช่น
  • Zero-emissions farm equipment: การใช้เครื่องจักรการเกษตรที่ไม่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า
  • Meat alternative: เนื้อสัตว์ทางเลือก เช่น โปรตีนจากพืชหรือเนื้อที่ผลิตจากเซลล์ เพื่อลดการปล่อยมีเทนจากการเลี้ยงสัตว์
  • Methane inhibitors: สารเติมแต่งอาหารสัตว์ ที่จะช่วยลดการผลิตก๊าซมีเทนในกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้องในการทำปศุสัตว์
  • Anaerobic manure processing: การย่อยมูลสัตว์ (ปุ๋ยคอก) แบบไม่ใช้ออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนมูลสัตว์ให้เป็นก๊าซชีวภาพ
  • Bioengineering: วิศวกรรมชีวภาพ เป็นการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • Precision Agriculture: การทำการเกษตรแบบแม่นยำ ใช้ข้อมูลและเซ็นเซอร์เพื่อลดการใช้ปุ๋ยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  1. Power Grid โครงข่ายไฟฟ้า คือการปรับปรุงโครงข่ายพลังงานเพื่อเพิ่มการรองรับการใช้พลังงานสะอาดในระบบไฟฟ้า และลดการสูญเสียพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น
  • Long-duration storage: ระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้งานได้ยาวนาน เพิ่มความเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียน
  • Advanced controls: ระบบควบคุมอันชาญฉลาดเพื่อจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • Software and communications: ซอฟต์แวร์และระบบสื่อสาร สำหรับตรวจสอบและบริหารโครงข่ายไฟฟ้า
  • Vehicle-to-grid integration: เป็นการเชื่อมต่อยานพาหนะไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อใช้พลังงานสำรองจากแบตเตอรี่
  • Building-to-grid integration: เป็นการเชื่อมต่ออาคารที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้เข้ากับโครงข่าย
  • Next-generation nuclear: การใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
  • High-efficiency materials: การใช้วัสดุประสิทธิภาพสูง ที่ช่วยลดการสูญเสียพลังงานในระบบโครงข่าย
  1. Hydrogen ไฮโดรเจน ปัจจุบันมีการเริ่มใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการขนส่ง เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ไฮโดรเจน 100% เนื่องจากไฮโดรเจน (H) เป็นก๊าซเบาที่สุดที่ให้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำ (H2O) เท่านั้น ไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อถูกเผาไหม้ ทว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนในการผลิตที่สูง อีกทั้งก็ยังต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมด้วย เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจนที่น่าสนใจ เช่น
  • Low-cost production: การผลิตไฮโดรเจนที่ประหยัดและลดการปล่อยคาร์บอน เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิต (ไฮโดรเจนสีเขียว)
  • Road-transport fuel: การใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ
  • Ammonia production: การผลิตแอมโมเนีย (ในปุ๋ย) ด้วยกระบวนการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ
  • Steel production: การใช้ไฮโดรเจนแทนถ่านหินในกระบวนการผลิตเหล็ก
  • Aviation fuel: พัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานจากไฮโดรเจน
  1. Carbon Capture and Storage การดักจับและกักเก็บคาร์บอน เนื่องจากในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิสในกระบวนการผลิต โดยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมา โดยทั่วไปก็จะต้องปล่อยก๊าซเหล่านี้สู่บรรยากาศ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้จะดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ไม่ให้ถูกปล่อยออกไป จากนั้นจึงกู้คืนโดยการดูดกลับมาเพื่อนำมากักเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป โดยไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ
  • Carbon Capture and Storage (CCS): การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานหรือโรงไฟฟ้าแล้วนำไปกักเก็บไว้ใต้พิภพที่มีคุณสมบัติและความลึกเหมาะสม โดยไม่ให้มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
  • Pre-and post-combustion capture technologies: การดักจับ CO₂ ก่อนหรือหลังการเผาไหม้ในโรงงาน
  • Direct air capture: ดักจับ CO₂ โดยตรงจากชั้นบรรยากาศ
  • Bioenergy with carbon capture and storage (BECCS): เป็นการใช้พลังงานชีวภาพร่วมกับการจัดเก็บคาร์บอน
  • Biochar: การเปลี่ยนเศษวัสดุอินทรีย์ให้เป็นถ่านชีวภาพ ซึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนในดินได้
  • CO-enriched concrete: คอนกรีตที่มีความสามารถในการดูดซับ CO₂ ระหว่างกระบวนการผลิต
  1. Clean Energy พลังงานสะอาด เน้นการใช้พลังงานที่ผลิตหรือใช้งานโดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษในปริมาณที่น้อยที่สุด ที่เราคุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่น
  • Solar Energy: พลังงานแสงอาทิตย์ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูงและแบตเตอรี่เก็บพลังงาน เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล
  • Wind Energy: พลังงานลม กังหันลมที่ใช้พลังงานลมผลิตไฟฟ้า
  • Biomass Energy: พลังงานชีวมวลที่ได้จากการใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ซังข้าวโพดหรือเปลือกไม้ แทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • Wave Energy: พลังงานน้ำและคลื่นทะเล เป็นระบบผลิตพลังงานจากคลื่นและกระแสน้ำ
  1. Waste Management การจัดการของเสีย เป็นกระบวนการรวบรวม บำบัด กำจัด และรีไซเคิลของเสียจากกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • Biogas: การผลิตก๊าซชีวภาพโดยใช้ของเสียอินทรีย์ เช่น ขยะหรือมูลสัตว์ ในการผลิตพลังงาน
  • Recycling Technology: การนำขยะบางประเภทมารีไซเคิล เพื่อลดการผลิตขยะและลดการใช้พลังงานในการผลิตใหม่
  • Waste-to-Energy: โรงงานเผาขยะเพื่อผลิตพลังงาน เป็นการแปรรูปขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ให้กลายเป็นพลังงาน
  1. Forestry and Land Management การจัดการและอนุรักษ์ป่าไม้ เนื่องจากการปลูกต้นไม้หรือการปลูกป่า ถือเป็นกิจกรรมชดเชยคาร์บอนในรูปแบบหนึ่งที่นิยมทำกันมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำเพื่อเพิ่มการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีการทางธรรมชาติ หรือเพื่อการทำคาร์บอนเครดิตก็ตาม การนำเทคโนโลยีเข้ามาควบคุม ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากป่าและที่ดิน เพื่อลดผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่าและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ จะช่วยให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Monitoring changes in forest area: ระบบการตรวจสอบป่าไม้ด้วยดาวเทียม ช่วยติดตามการปลูกป่าและลดการตัดไม้ทำลายป่า
  • Afforestation/Reforestation: การปลูกป่าเชิงพาณิชย์ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ และยังสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย
  1. Innovative Materials เทคโนโลยีนวัตกรรมวัสดุ คือการพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ หรือการปรับปรุงวัสดุเดิมเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม
  • Low-Carbon Building Materials: การทำวัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ เช่น การทำคอนกรีตที่ดูดซับ CO₂ หรือคอนกรีต CarbonCure ที่นอกจากจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการผลิตแล้ว ยังใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับไว้มาใช้ในกระบวนการผลิตคอนกรีตด้วย หรือวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล
  • Bioplastics: วัสดุชีวภาพ เป็นการผลิตพลาสติกที่จากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น แป้งข้าวโพดหรืออ้อย ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ง่าย
  • Biodegradable Products: ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และสามารถหมุนเวียนคืนสู่ธรรมชาติอย่างสมดุลและปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนต่างจากขยะพลาสติกทั่วไป

การก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions นั้น นอกจากจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่ายแล้ว การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหลาย ๆ แขนงก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะนำมาบูรณาการกับแนวคิดด้านความยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลกระทบต่อโลกในทุกมิติ และการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องเร่งด่วน เทคโนโลยีทั้งหมดนี้จะเป็นโซลูชันที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว และสร้างโลกแห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

 

บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com 

ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID : @apollothailand

ภาษา :

เลือกประเภทรถของคุณ

Vehicle type
Brand
Model

หมวดหมู่สินค้า